ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

PwC เผยมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่-ความก้าวหน้าทางดิจิทัลกระทบธุรกิจไทย แนะเตรียมรับมือให้พร้อม


กรุงเทพฯ28 พฤศจิกายน 2559  PwC เผยแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อวิชาชีพผู้สอบบัญชี และวิธีการทำบัญชีหลังระบบคลาวด์และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ชี้เสี่ยงทำให้งานนักบัญชีบางประเภทจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุมาตรฐานบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง TFRS 15 และ TFRS 16 จะส่งผลกระทบต่องบการเงินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ แนะผู้บริหารศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนวางแผนรับมือ-เตรียมบุคลากรให้พร้อม 

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทยกล่าวในงานสัมมนาการรายงานทางการเงินครั้งที่ 14 ประจำปี 2559 ในหัวข้อ เตรียมรับมือความท้าทายของนักบัญชีในโลกอนาคต” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลและส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพผู้สอบบัญชี โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น ระบบการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติ คลาวด์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อวิธีการทำบัญชีในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่ง PwC คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้วิธีการ กระบวนการทำบัญชี รวมไปถึงการใช้ข้อมูลทางบัญชีจะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าหลักการทางบัญชีนั้นจะคงเดิม 

“เรามองว่ามีโอกาสสูงมากที่อาชีพหรืองานประจำบางประเภท รวมถึงงานที่ไม่มีความซับซ้อนมาก จะถูกแทนที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า นาย ศิระ กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ออสเตรเลีย ที่ผ่านมา ระบุว่า เสมียนหรือผู้ช่วยทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร ผู้ทำบัญชี พนักงานบันทึกข้อมูล และพนักงานธุรการสำนักงานถือเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ นาย ศิระ ยังมองว่า ในปัจจุบันระบบบัญชีออนไลน์แบบคลาวด์(Cloud accounting software) กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มบริษัทขนาดกลางถึงขนาดย่อมเนื่องจากใช้งานง่ายและมีความคล่องตัวสูง เพราะสามารถเชื่อมต่อการใช้งานผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart device) และแบบฟอร์มการทำบัญชีสำเร็จรูป อีกทั้งค่าธรรมเนียมเริ่มต้น และการลงทุนระบบโครงสร้างอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นทีมนักบัญชีแบบคนเดียว

ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data analytics) ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำบัญชีมากขึ้น โดยจะถูกใช้ในการจัดทำรายงานทางบัญชีประจำปี หรือรายไตรมาส และช่วยให้นักบัญชีเห็นภาพรวมจากการประมวลข้อมูลเชิงลึกของบริษัทเพื่อใช้ประกอบรายงานทางการเงินได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการประพฤติมิชอบหรือเหตุฉ้อโกงทางบัญชีต่างๆ รวมทั้งสามารถช่วยคาดการณ์หรือตั้งเป้าการเติบโตทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน นักบัญชีสามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูลจำนวนมากผ่านระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย หรือ Predictive analytics และการใช้ภาพเพื่อแสดงข้อมูล หรือ Data visualisation เพื่อช่วยลูกค้าและผู้บริหารตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ด้วยความที่การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมีการนำมาใช้และถูกพัฒนามากขึ้นนี่เอง เรามองว่า ในอนาคตอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มหลักสูตรความเชี่ยวชาญในด้านนี้กับสถาบันการศึกษาและวิทยาลัยการบัญชีที่เกี่ยวข้องด้วย” นาย ศิระ กล่าว

เตรียมรับมือผลกระทบเบร็กซิท-การเมืองสหรัฐฯ

นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ของสหราชอาณาจักร (Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินงานของบริษัทย่อย หรือสาขาในประเทศดังกล่าว รวมไปถึงผลกระทบทางอ้อมจากบริษัทคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอาจมีความผันผวนในระยะสั้น ดังนั้น บริษัทที่มีเงินลงทุนในตลาดเงิน และ ตลาดทุน หรือผู้ประกอบการค้าสกุลเงินตราต่างประเทศ อาจต้องพิจารณาการด้อยค่าของเงินลงทุน หรือรับรู้ส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ในระยะสั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากทั้งฝั่งอังกฤษและสหรัฐฯ คงยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนและอาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน โดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐฯ คงต้องรอดูทิศทางและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในปีหน้าว่า จะออกมาเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ในระยะกลางถึงระยะยาว เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอาจต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจในด้านต่างๆ รวมทั้งการขยายตลาด การรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่และขอบเขตทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร แม้ไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ภาคธุรกิจต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะบางนโยบายที่มีการคาดการณ์ว่าจะถูกนำมาใช้ อาจกระทบต่อการประกอบธุรกิจในตลาดเดิม หรือการลงทุนในตลาดใหม่รวมไปถึงกำแพงภาษีหรือข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้” นายชาญชัย กล่าว  

มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่... ความท้าทายที่รออยู่

นาย ชาญชัย กล่าวต่อว่า บริษัทไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชี โดยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย (TFRS) ฉบับใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทไทยมี 2 ฉบับ คือ TFRS 15เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 และTFRS 16 เรื่องสัญญาเช่า ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563

สำหรับ TFRS 15 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและหลักการรับรู้รายได้ คือ ให้รับรู้รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการตามสิ่งที่ได้โอนไปให้ลูกค้า โดยไม่มีการแยกโมเดลการรับรู้รายได้เป็นขั้นความสำเร็จของงานเหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการกำหนดให้พิจารณาภาระที่ต้องปฏิบัติ (Performance obligations) ว่า มีรายการสินค้าและบริการที่เป็นรายการแยกต่างหากกี่รายการ และพิจารณาราคาของรายการ (Transaction price) เช่นหากกิจการมีการให้ หรือคาดว่าจะให้ส่วนลด เงินคืน ค่าตอบแทนที่คิดจากยอดขายในอนาคต ค่าปรับ หรือ การคืนสินค้า กิจการจะต้องรับรู้รายได้ในจำนวนเงินขั้นต่ำที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่ากิจการจะได้รับจริง รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงประมาณการจำนวนเงินดังกล่าว ทุกรอบระยะเวลาการรายงาน

TFRS 15 ฉบับใหม่จะส่งให้วิธีการรับรู้รายได้ หรือจำนวนเงินรายได้ที่รับรู้ในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยนอกจากจะกระทบต่อตัวเลขทางการเงินแล้ว ยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อขั้นตอน วิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลที่ควรจัดเก็บอีกด้วย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานทางการเงิน นาย ชาญชัย กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าส่ง ค้าปลีก ยานยนต์ รับจ้างผลิตสินค้า ต่อเรือและ โทรคมนาคม เป็นต้น ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมโดยประเมินผลกระทบ และปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการจัดเก็บข้อมูล ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

ส่วน TFRS 16 นั้นคาดว่า จะกระทบต่อกิจการที่เป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานเกือบทุกกิจการ เพราะภายใต้หลักการใหม่ กิจการผู้เช่าจะต้องรับรู้สิทธิในการใช้สินทรัพย์หนี้สินตามสัญญาเช่าที่เข้ามาในงบดุล การตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้สินทรัพย์ และรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินตามสัญญาเช่าด้วยวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว จะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงิน และการจัดประเภทรายการในงบการเงินของกิจการผู้เช่า ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้น  กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงขึ้น กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานสูงขึ้น และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินลดลง แม้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจก็ตาม

หากผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมความพร้อม และสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารผู้ให้กู้ เพราะจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้  รวมถึงนักลงทุนทั้งรายใหญ่ และรายย่อย อาจทำให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่กิจการได้ นาย ชาญชัย กล่าว  

นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชีชุดเล็กในส่วนของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEsเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (TFRS for SMEs) ยังอาจส่งผลกระทบต่อกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 เป็นการปรับเปลี่ยนหลักการ วิธีคิด และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นในบางรายการ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ต้องวัดที่มูลค่ายุติธรรม การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ต้องวัดมูลค่ายุติธรรม การพิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่ต้องประมาณการกระแสเงินสดหรือหามูลค่ายุติธรรม เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

ระยะที่ 2 เป็นข้อกำหนดใหม่ที่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญและต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว เช่น งบกระแสเงินสด โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า ผลประโยชน์พนักงาน และ ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

ระยะที่ 3 เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมมากเนื่องจากในบางเรื่องเป็นเรื่องที่ TFRS ก็ยังไม่ได้บังคับใช้ ได้แก่ เครื่องมือทางการเงินการจัดประเภทหนี้สินทางการเงินและส่วนของเจ้าของ และการพิจารณาสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมมาก จึงให้มีผลบังคับใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

ทั้งนี้ นาย ชาญชัย กล่าวว่า กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะทุกกิจการน่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานฉบับดังกล่าว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าเป็นกิจการที่ซับซ้อนหรือไม่โดยกิจการที่ไม่ซับซ้อน เช่น กิจการที่ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม และบริษัทร่วมค้า จะได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ในบางเรื่อง เช่น การด้อยค่าของสินทรัพย์ รายการที่มีเนื้อหาของสัญญาเช่า และ ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เป็นต้น

“การเปลี่ยนมาใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs นั้นจะส่งผลดีกับกิจการที่ต้องการแหล่งเงินทุนเช่น การยื่นขอกู้ยืมเงิน การออกหุ้นกู้ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่มีแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาการเตรียมความพร้อมในการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐาน TFRS”นาย ชาญชัย กล่าว

นาย ชาญชัย กล่าวสรุปว่า แม้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและมีการเตรียมรับมือกับผลกระทบได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่า ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้บริหารควรศึกษา ทำความเข้าใจ และตามให้ทันกระแสเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ รวมทั้งมาตรฐานทางการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่องบการเงิน และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจมีผลต่อแผนธุรกิจและนโยบายการค้าและการลงทุนของตน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องและพลิกผลกระทบเชิงลบให้กลับมาเป็นบวก รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับกิจการต่อไป



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดมอบรางวัล "Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 12

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดมอบรางวัล "Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 12 เพื่อยกย่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่สร้างและพัฒนาธุรกิจได้อย่างโดดเด่นในมิติต่างๆ   นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดย่อมและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมเสวนากับผู้ได้รางวัลทั้ง 5 ท่านในหัวข้อ "SMEs Step Up for Thailand 4.0" ได้แก่ นายสาธิต ก่อกูลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพมโก้ อินเตอร์ไลท์ จำกัด  นายสุรเดช นิลเอก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด นายทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด นายสุจินต์ ทรัพย์ล้อม ประธานกรรมการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ แอนด์ เจ แวร์เฮ้าส์ แอนด์ เซอร์วิส             แสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ "SMEs Step Up for Thailand 4.0" โดย นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ...

" บบส. ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด ลงนามเซ็นสัญญารับมอบสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจาก ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) "

คุณทวี กุลเลิศประเสริฐ (ที่ 4 จากขวา) กรรมการผู้จัดการบริษัท  บริหารสินทรัพย์  ไนท คลับ  แคปปิตอล  จำกัด ลงนามเซ็นสัญญารับมอบสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางมูลค่าทางบัญชี 661 ล้านบาท กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  TMB   โดยมีคุณเฉิดประภา ฉลาดสุนทรวาที (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯฝ่ายพัฒนาสินทรัพย์ และคุณระบิล  พรพัฒน์ กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯฝ่ายบริหารความเสี่ยง ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามรับมอบสัญญาซื้อขายเมื่อเร็วๆนี้

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดตัวกองทุนรวมในต่างประเทศสำหรับลูกค้าธนบดี

ธนาคารพาณิชย์รายแรกนำเสนอบริการการซื้อขายกองทุนรวมในต่างประเทศ สำหรับลูกค้า ธนบดี   กรุงเทพฯ  –  ธนาคาร ซิตี้ แบงก์   เปิดตัวบริการ การ ซื้อขายกองทุน รวม ใน ต่างประเทศ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย  สำหรับลูกค้า ธนบดี ที่ต้องการบริหารจัดการความมั่งคั่ง  และ เพิ่มโอกาสการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน ให้เหมาะ สม กับวัตถุประสงค์ของลูกค้า  เพื่อโอกาสได้รับ ผลตอบแทน ตามเป้าหมายที่กำหนด   โดย บริการ การ ซื้อขายกองทุน รวม ใน ต่างประเทศ นี้ จะทำให้ลูกค้า ได้ รับรู้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก  และโอกาสในการลงทุน ในสินทรัพย์ หลาก หลายประเภท  ในหลายสกุลเงิน  รวมไปถึงการลงทุนในบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นบริการ สำหรับ       นักลงทุนรายย่อยผ่านธนาคารซิตี้ แบงก์ เป็นรายแรก   ในเบื้องต้น  ธนาคาร ซิตี้ แบงก์  ประเทศไทยได้ร่วมมือกับตัวแทน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ที่เข้าร่วมในบริการการซื้อขายกองทุนรวมในต่างประเทศนี้ ทั้งหมด  5  ราย ได้แก่ แบล็คร็อค ...